วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรณีใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแล้วน้ำไหลเบาที่เกิดจากสิ่งสกปรกอุดตัน

หลายท่านคงเคยเจอกรณีเปิดใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแล้วน้ำจากฝักบัวที่มาจากเครื่องทำน้ำอุ่นไหลเบามาก ทั้งที่เปิกก๊อกน้ำอื่นน้ำก็ยังไหลแรงปกติ ในกรณีนี้ส่วนมากเกิดจากเศษสกปรกที่มาจากน้ำมาอุดตันที่กรองในเครื่องทำน้ำอุ่น เรามาดูวิธีแก้ไขกันครับ

นี่คือเจ้าหน้าตาเครื่องทำน้ำอุ่นที่เอามาทำความสะอาดกรองครับ แต่เวลาทำความสะอาดตัวกรองจริง ไม่ต้องถอดเครื่องทำน้ำอุ่นมาแบบนี้นะครับ ทำได้ที่ตัวเครื่องเลย ที่แน่ๆคือ ตัดสวิทช์ไฟเครื่องทำน้ำอุ่นก่อนนะครับเพื่อความปลอดภัย


ก้มมองด้านล่างเครื่องทำน้ำอุ่นจะมีสายน้ำ 2 เส้นคือ สายน้ำจากประปาเข้าเครื่องทำน้ำอุ่นกับสายฝักบัวของเครื่องทำน้ำอุ่น ให้เราถอดแค่สายน้ำประปาที่เข้าเครื่องทำน้ำอุ่นสายเดียวครับ เพราะตัวกรองน้ำอยู่ที่สายนี้ครับ เราก็แค่หมุนเกลียวออกมาครับ แล้วระวังยางรองหัวสายหลุดหายด้วยครับ


คราวนี้เราก้มดูจะเห็นตัวกรองน้ำประปาเข้าเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วครับ


 ใช้ไขควงขนาดเล็กแซะออกมาครับ


 หน้าตาของตัวกรองน้ำประปา จะเห็นว่ามีเศษสกปรกติดอยู่พอควร ทำให้น้ำประปาไหลไม่สะดวก เวลาใช้งานน้ำเลยไหลเบาครับ


ใช้แปรงสีฟันเก่าๆ ขัด ขูด เอาเศษสกปรกออกให้หมดจนสะอาดครับ


เอาตัวกรองที่สะอาดแล้วใส่กลับที่เดิม แล้วขันสายน้ำเข้ากลับคืน แล้วเปิดใช้งานได้เลยครับ


วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การต่อสวิทช์แสงแดด (photo electric switch)

หลายคนอาจจะไม่รู้จักว่าสวิทช์แสงแดดมันคืออะไร อธิบายอย่างง่ายก็คือ สวิทช์ที่ควบคุมปิดเปิดไฟด้วยแสงแดด ไว้เปิดไฟในตอนกลางคืน ตอนเช้าก็ปิดเอง โดยสวิทช์แสงแดดที่ใช้ทั่วไปคือ ใช้กับไฟรอบตัวบ้านที่เปิดไว้ในตอนกลางคืน ตอนเช้าก็ปิดเอง โดยที่เราไม่ต้องกลัวว่าจะลืมปิดไฟในตอนเช้า

หน้าตาของสวิทช์แสงแดดเป็นแบบนี้ครับ จะมีสายไฟ 3 เส้นไว้ต่อวงจรครับ



สายไฟ 3 เส้น จะแบ่งออกเป็น
LOAD (RED) สีแดง ไว้ต่อกับโหลด ซึ่งหมายถึงต่อไปยังหลอดไฟนั่นเอง
LINE (BLACK) สีดำ หมายถึง สายไฟที่มีไฟ 220 v ต่อมาเส้นนี้
NEUT (WHITE) สีขาว หมายถึง สายไฟอีกเส้นที่ไม่มีไฟ 0 v ต่อมาเส้นนี้

สวิทช์แสงแดดบางรุ่นอาจจะมีสายไฟสีต่างๆ ไม่ตรงกัน โดยเราต้องดูป้ายที่ติดมากับสวิทช์แสงแดดเป็นหลักครับ


เครื่องมืออุปรกรณ์ที่ต้องใช้ในการต่อสวิทช์แสงแดดมีดังนี้
คีมทั่วไป คีมปลอกสายไฟ ถ้าไม่มีก็ใช้คัตเตอร์ก็ได้ ไขควงเช็คไฟ ถุงพลาสติกสีดำ


ขั้นตอนการต่อสายไฟสำหรับสวิทช์แสงแดดรุ่น 3 สาย มีดังนี้

1.เราต้องรู้จักไฟบ้านของเราที่จะต่อมายังสวิทช์แสงแดดนี้ก่อนว่าเส้นไหนมีไฟ (220 v) และเส้นไหนไม่มีไฟ (0 v) โดยใช้ไขควงเช็คไฟตรวจเช็ค เส้นที่มีไฟเมื่อเอาไขควงเช็คไฟสัมผัสจะมีไฟสว่างตามลูกศรครับ


ส่วนอีกเส้นที่ไม่มีไฟเมื่อเอาไขควงเช็คไฟสัมผัสแล้วจะไม่มีไฟดังรูป

หลังจากที่เรารู้แล้วว่าสายไฟเส้นไหนมีไฟหรือไม่มีไฟ เราก็มาร์คไว้ หลังจากนั้นเราก็ตัดไฟก่อนทำงานเพื่อความปลอดภัย

2. เราต้องหาตำแหน่งที่จะติดสวิทช์แสงแดดโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่นอกตัวบ้านเพื่อรับแสงแดดและสามารถเดินสายไฟมาได้ง่ายทั้งสายไฟบ้านและสายไฟที่จะต่อไปยังหลอดไฟ จากรูปบ้าน ผมเลือกติดสวิทช์แสงแดดไว้ตำแหน่งที่วงกลมสีแดง เพราะรับแสงแดดตอนเช้าและอยู่ในร่มครับจะได้ไม่เสี่ยงเรื่องฝนตกเปียกจุดต่อไฟฟ้า และมีสายไฟบ้านมารออยู่แล้ว โดยเอาบันไดมาปีนแล้วใช้ตะปูตอกไว้ยึดหรือแขวนสวิทช์แสงแดด หลังจากนั้นก็ต่อสายไฟจากหลอดมายังสวิทช์แสงแดด และต่อสายไฟจากบ้านมายังสวิทช์แสงแดดด้วย

3. เราเริ่มด้วยการต่อสายไฟบ้านเข้าสวิทช์แสงแดด จากสายไฟบ้านที่เรามาร์คไว้เส้นที่ 1 มีไฟ เส้นที่ 2 ไม่มีไฟ ต่อสาย 1 ในรูปซึ่งเป็นเส้นที่มีไฟจากตัวบ้านมาต่อกับเส้นสีดำของสวิทช์แสงแดด (สีดำ หมายถึง สายไฟที่มีไฟ 220 v ต่อมาเส้นนี้)


ต่อสายไฟบ้านเส้นที่ 2 ที่ไม่มีไฟกับสายสีขาวของสวิทช์แสงแดด (สีขาว หมายถึง สายไฟอีกเส้นที่ไม่มีไฟ 0 v ต่อมาเส้นนี้)

4. หลังจากเราต่อสายไฟบ้าน 2 เส้นเรียบร้อย ต่อมาเราก็จะต่อสายไฟ 2 เส้น(หมายเลข 1 และ 2) จากหลอดไฟกับสวิทช์แสงแดดเช่นกัน


     โดยต่อสายไฟเส้นหนึ่งของหลอดไฟกับเส้นสีแดงของสวิทช์แสงแดด (หมายเลข1) และต่อสายไฟอีกเส้นจากหลอดไฟกับสายสีขาวของสวิทช์แสงแดด (หมายเลข 2) ซึ่งจะเห็นว่าสายสีขาวของสวิทช์แสงแดดจะมีสายไฟพันรวมกันทั้งหมด 3 เส้น หลังจากต่อเรียบร้อยก็ใช้เทปพันสายไฟพันจุดต่อสายไฟให้เรียบร้อย

 4. หลังจากต่อสายไฟเรียบร้อย คราวนี้ก็มาไล่สายกันใหม่อีกทีว่าต่อสายไฟถูกต้อง มั่นใจแล้วก็ทำการทดลองโดยการเปิดไฟเข้าระบบไฟจะติดทันที 

พอทิ้งไว้ประมาณ 10 วินาที ไฟจะดับ (เพราะมีแสงแดดในตอนกลางวัน)

หลังจากนั้นเราก็เอาถุงพลาสติกสีดำ (ถุงขยะ) มาคลุมที่สวิทช์เพื่อไม่ให้มีแสง หลอดไฟก็จะติดอีกครั้งหนึ่ง
 ก็แสดงว่าเราต่อถูกต้อง ใช้งานได้ทันที ก็ทำการเก็บสายไฟให้เรียบร้อย

ส่วนเสริมเพิ่มเติม
    เมื่อต่อสวิทช์แสงแดดแล้วหลอดไฟอยู่ใกล้ พอกลางคืนสวิทช์ทำงานหลอดไฟติด แสงสว่างจากหลอดไฟจะทำให้สวิทช์แสงแดดตัดไฟอีกครั้งหลอดไฟจะดับ แล้วสวิทช์ก็จะทำงานอีกทำให้หลอดไฟติดอีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลอดไฟจะติดไม่นานแล้วก็ดับ สักพักก็จะติดอีก วนเวียนอยู่แบบนี้ บางท่านก็อาจจะคิดว่าต่อสายไฟผิดหรือสวิทช์เสีย ทางแก้ไขคือ ขยับหลอดไฟห่างออกจากสวิทช์แสงแดด หรือถ้าจำเป็นที่ต้องอยู่ใกล้กัน ให้เอาแผ่นสังกะสี หรือแผ่นพลาสติกก็ได้มากั้นระหว่างสวิทช์แสงแดดกับแสงจากหลอดไฟ ก็จะทำให้แสงจากหลอดไฟไม่ส่องมาที่สวิทช์แสงแดด แค่นี้ก็เสร์จพร้อมใช้งานแล้วครับ



 


วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ผ่าให้ดูภายในหลอดนีออน led T8

หลายคนคงสงสัยว่าภายในหลอด led T8 มันมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ

ในภาพคือหลอด led T8 สภาพปกติ


ถ้าเราเอาพลาสติกหรือแก้วที่ครอบหลอดออกจะเห็นภายในหลอดแบบนี้ครับ





เราจะเห็นว่าปลายข้างหนึ่งของแถบ led จะมีวงจร ac/dc converter ชุดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้า A.C. 220 v เป็นไฟฟ้า D.C. ไม่กี่โวลต์จ่ายให้กับหลอด led ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งจะเป็นสายไฟธรรมดา




ส่วนมากหลอด led เสีย ไม่ได้เสียที่ตัวหลอด led แต่เสียที่ วงจร ac/dc converter ครับ เท่าที่เจอคือ เปิดสวิทช์ไฟแล้วหลอดมีการอาการสว่างแบบหรี่ บางครั้งเกิดจากคาปาซิเตอร์บวมครับ คือเสียหายตัวนี้นั่นเอง ก็ซื้อมาเปลี่ยนตัวละ 3 บาท บัดกรีเปลี่ยนใหม่ก็ใช้งานหลอดได้ต่อครับ

จบแล้วครับ สำหรับการผ่าให้ดูภายในหลอด led T8

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

การเจาะผนังปูนเพื่อการยึดหรือแขวนสิ่งของต่างๆ

งานแรกสำหรับการเขียนบล๊อกของผมเองคือ การเจาะผนังเพื่องานยึดหรือแขวนสิ่งต่างๆ สำหรับคนชอบงาน D.I.Y ครับ มีงานตัวอย่างต่างๆ เช่น
งานบล๊อคลอยสำหรับปลั๊กไฟ



ภาพด้านหลังงานกรอบรูป
งานแขวนกรอบรูป
งานบล๊อคสำหรับเบรกเกอร์
ชั้นวางหนังสือ

ขาเหล็กฉากยึดชั้นวางหนังสือ

งานแขวนนาฬิกา

          งานเหล่านี้ เราต้องมีการเจาะเพื่อยึดหรือแขวนกับผนังปูน สำหรับท่านที่ต้องการทำเองที่บ้าน ผมขอแนะนำการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ 



1. สว่าน สว่านที่ต้องใช้ต้องสามารถเจาะกระแทกได้ หมายถึงสว่านที่เราจะใช้งานผนังต้องสามารถเจาะกระแทกได้ ถ้าสว่านธรรมดาก็ใช้สำหรับงานนี้ไม่ได้ครับ

2. ไขควง ต้องใช้สำหรับการขันสกรูฝังลงในพุก

3. ค้อน ใช้สำหรับการตอกพุกฝังลงในผนังปูน ถ้าไม่มีค้อนเล็ก ค้อนใหญ่ก็ได้ครับ

4. ดอกสว่าน ต้องเป็นดอกส่วานที่ใช้สำหรับเจาะปูน ผมแนะนำให้ซื้อดอกสว่านเจาะปูนอย่างดีครับ เพราะถ้าใช้อย่างถูก เวลาใช้งานจริงเจาะไม่เข้าแล้วหัวดอกส่วานก็เสียแล้วครับ ซื้อแบบถูกเสียเงินฟรีใช้งานไม่ได้ ซื้อดีหน่อยใช้เจาะได้จนบ้านพรุนก็ยังไม่พังครับ ส่วนขนาดของดอกสว่านสำหรับงานตามตัวอย่างให้ซื้อดอกสว่าน 2 ขนาดก็พอครับ คือ ขนาดพุกเบอร์ 6 ใช้ดอก 6mm ได้ครับ พุกเบอร์ 7 ใช้ดอก 6.5mm หรือถ้ามันอาจจะเขียนเป็นหน่วยนิ้ว คือ 1/4" ครับ

5. พุกพลาสติก ก็ซื้อ 2 เบอร์ก็พอครับก็คือ พุกเบอร์ 6 กับพุกเบอร์ 7 โดยจะซื้อมากน้อยแค่ไหน ร้านจะมีขายเป็นกล่องหรือแบบเป็นห่อพลาสติคจำนวนน้อยครับ

6. สกรูสำหรับขันใส่ยึดหรือแขวน จะมีขนาดต่างๆ และความยาวของสกรูต่างกัน อยากรู้ว่าต้องใช้ขนาดไหนก็เอาพุกพลาสติกเทียบซื้อเลยครับว่าเราต้องการให้สกรูโผล่มาจากพุกแค่ไหน

7. สก๊อตเทป หลายท่านคงงงว่าใช้ตรงไหน ได้ใช้แน่ครับ

8. ถุงพลาสติก ขนาดไหนก็ได้ครับ แต่ควรใช้ขนาด 6 นิ้วหรือ 8 นิ้วก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ครับ หาเศษถุงที่เราเก็บไว้ครับมาใช้

9. ปากกาเคมี 1 ด้าม อันนี้ลืมถ่ายรูปมาด้วย 


คราวนี้มาลงมือกันเลยครับ

 เราต้องหาตำแหน่งที่เราจะเจาะผนังครับ หลังจากที่เรารู้ว่าจะเจาะตรงไหนก็มาเตรียมดอกสว่านกันครับ

   จากภาพจะเห็นพุกสองขนาดคือ เบอร์ 6 และเบอร์ 7 โดยจะเห็นตัวเลขที่พุก เราก็เลือกดอกสว่านให้ถูกขนาดด้วยครับ

จากนั้นนำพุกที่เราจะใช้มาเทียบกับปลายดอกสว่านแล้วเอาปากกาเคมีมามาร์คระยะความยาวไว้ เวลาเราเจาะผนังปูนจะได้รู้ว่าต้องเจาะความลึกเท่าไหร่สำหรับฝังพุกให้พอดี



คราวนี้เรามาใช้งานถุงพลาสติคกับสก๊อตเทปกันครับ

นำถุงพลาสติคที่เราเตรียมไว้มาติดด้วยสก๊อตเทป ใช้สก๊อตเทปความยาวประมาณ 4-6 นิ้ว โดยติดแถบบนที่ปากถุงครับ ถุงนี้ใช้เพื่อรองเศษฝุ่นผงปูนที่เกิดจากการเจาะผนังครับ ไม่งั้นเราต้องมากวาดเศษผงปูน


หลังจากนั้นเอาถุงพลาสติคที่เราติดสก๊อตเทปมาติดบริเวณใต้จุดที่เราจะเจาะรูครับ โดยติดต่ำกว่าจุดที่เราจะเจาะรูประมาณ 1 เซ็นติเมตร แล้วกางถุงออกไว้รับเศษผงจากการเจาะรู

จากนั้นก็ปรับสว่านเป็นแบบเจาะกระแทก แล้วเจาะตามตำแหน่งที่เราต้องการ โดยเจาะแล้วดูระยะที่เราขีดไว้บนดอกสว่านด้วยครับ เพื่อที่จะเจาะรูได้ขนาดความลึกพอดีกับพุก เศษผงปูนที่เกิดจากการเจาะจะหล่นไปในถุงพลาสติกที่เรารองรับไว้ครับ


หลังจากเจาะได้ขนาดและความลึกที่ต้องการแล้ว ก็แกะเอาถุงพลาสติคที่มีเศษผงปูนออกไปทิ้ง แล้วเอาค้อนกับพุกมาใส่ครับ โดยใช้ค้อนตอกเข้าไปมันจะแน่นพอดีกับรูที่เราเจาะไว้ครับ


จากนั้นก็เอาสกรูมาใส่ แล้วใช้ไขควงขันเข้า


เสร็จเรียบร้อยครับ สำหรับงานเจาะผนังปูนฝังพุกพลาสติคสำหรับงานแขวนหรือยึดสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มาก ส่วนงานฝังพุกขนาดใหญ่หรืองานฝังพุกเหล็กไว้มีโอกาสจะนำเสนอต่อไป